พลูด่างบนโต๊ะทำงาน
พลูด่างเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่นิยมปลูกกันในตัวอาคาร สามารถที่จะนำไปปลูกในห้องน้ำได้ เนื่องจากต้องการแสงน้อยในการเจริญเติบโต เป็นพันธุ์ไม้เลื้อยที่เติบโตได้เร็ว สามารถที่จะนำไปปลูกลงดินหรือสามารถแช่ไว้ในน้ำได้ โดยจะต้องล้างรากให้สะอาดก่อนการปักลงในแจกัน พลูด่างนั้นเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นแล้วถ้าปลูกลงดินต้องหมั่นรดน้ำเป็นประจำ อย่างน้อยวันละครั้ง
ข้อดีอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว ยังสามารถดูดสารพิษในอากาศได้มาก ทำให้ผู้อยู่อาศัยจะรู้สึกสดชื่นได้มากขึ้น
การเพาะปลูก
ง่ายที่สุดสามารถที่จะไปหาซื้อได้ตามร้านขายพันธุ์ไม้ทั่วไป เพราะโดยมากแล้วก็จะมีขายกันอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง แนะนำว่าให้เลือกต้นที่ปลูกมานานแล้วและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงจะดูแลได้ง่ายกว่า แต่ถ้าต้องการปลูกเอง ก็สามารถทำได้โดยการปักชำ เพราะวิธีนี้จะสามารถชำติดได้เร็ว กิ่งมีโอกาสการตายน้อยกว่าการเพาะเมล็ด และยังสามารถที่จะปักชำในวัสดุเพาะเลี้ยงหรือปักชำในน้ำเลยก็ได้ โดยการปลูกนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่ถ้าจะปลูกกันบนโต๊ะทำงานแล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้เลือก 2 วิธีนี้นะครับ
- การปลูกในกระถาง : วิธีนี้จะใช้ได้กับพลูด่าง พันธุ์ที่มีขนาดเล็กอย่าง พันธุ์ราชินีหินอ่อน หรือไม่ก็ราชินีสีทอง ทั้งสองพันธุ์นี้หาได้โดยทั่วไปตามร้านขายพันธุ์ไม้ สามารถปลูกได้ทั้งแบบกระถางแขวน (เป็นที่นิยม) และกระถางตั้งดิน โดยวัสดุปลูกก็จะใช้ดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็น แกลบ ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ โดยมีอัตราส่วนระหว่าง ดิน กับ วัสดุอินทรีย์ 1:1 หรือไม่ก็ 2:1
- การปลูกในแจกันหรือภาชนะทรงสูง : ไม่ว่าจะเป็นแจกัน แก้วน้ำ ขวดน้ำ ก็ใช้ได้ทั้งนั้น และการปลูกด้วยวิธีนี้ก็จะใช้น้ำแทนดิน ใช้ได้ทั้งแบบใช้น้ำเพียงอย่างเดียว หรือจะใช้น้ำละลายปุ๋ยเคมีก็ได้ และก็จะนิยมปลูกกับสองสายพันธุ์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถ้าเลือกวิธีใช้น้ำเพียงอย่างเดียว จริง ๆ แล้วอยากจะแนะนำว่าให้ใช้น้ำที่ได้จากบ่อหรือน้ำบาดาล เพราะจะมีแร่ธาตุมากกว่าน้ำฝนหรือน้ำประปา แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริง ๆ ต้องใช้น้ำประปา ก็ขอแนะนำว่าให้ผสมปุ๋ยลงในน้ำด้วย โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 โดยใช้อัตราส่วนปุ๋ย/น้ำ 10-20 เม็ด/น้ำ 1 ลิตร หมายความว่า ให้เตรียมน้ำไว้ 1 ลิตรก่อน แล้วก็ใส่ปุ๋ยลงไป 10-20 เม็ด คนให้เข้ากัน แล้วจึงค่อยเอาไปเทใส่ลงแจกันหรือภาชนะที่ต้องการ และก็ควรเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 2-3 เดือน/ครั้ง ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อเลี่ยงการเหี่ยวตายของพลูด่าง